แนะนำหนังสือ “จักรวาฬทีปนี : ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า”

อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

 

 

จักกวาฬทีปนี: ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า เป็นผลงานการวิจัยของอาจารย์แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง) ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย “วรรณกรรมล้านนา: ภูมิปัญญา ลักษณะเด่น และคุณค่า” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าโครงการ 

 

เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมประเภท “โลกศาสตร์” หรือ “ไตรภูมิ” คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปมักรู้จักเพียงคัมภีร์เตภูมิกถาหรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ของพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย หรือคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา แต่งโดยพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่แท้ที่จริง วรรณกรรมประเภทโลกศาสตร์มีอยู่มากมายหลายเรื่อง และคัมภีร์หนึ่งที่สำคัญได้แก่ คัมภีร์จักกวาฬทีปนี วรรณกรรมพุทธศาสนาชิ้นเอกของล้านนา ซึ่งพระสิริมังคลาจารย์แห่งเมืองเชียงใหม่ แต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2063 ในลักษณะ “งานวิชาการ” ที่มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ โดยยกหลักฐานอ้างอิงจากคัมภีร์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

 

คัมภีร์จักกวาฬทีปนีแพร่หลายเป็นอย่างยิ่ง ดังที่พบต้นฉบับตัวเขียนในล้านนา ทั้งเชียงใหม่ แพร่ น่าน และต้นฉบับตัวเขียนที่จารในสมัยต่างๆ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า จักกวาฬทีปนี เป็นคัมภีร์หนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ พระราชทานไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาในปีพุทธศักราช 2299 ด้วย ต่อมาในปีพุทธศักราช 2523 กรมศิลปากรจึงได้ชำระและแปลคัมภีร์จักกวาฬทีปนีเป็นภาษาไทย

 

ในงานวิจัยนี้ อาจารย์แม่ชีวิมุตติยาได้วิเคราะห์ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่าของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีให้เห็นเด่นชัด โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบคัมภีร์จักกวาฬทีปนีกับคัมภีร์โลกศาสตร์บาลีอีก 8 คัมภีร์อย่างละเอียดลึกซึ้ง ได้แก่ คัมภีร์โลกปัญญัตติปกรณ์ อรุณวตีสูตร โลกุปปัตติ โลกทีปสาร และโลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี ทั้งในด้านโครงสร้างของคัมภีร์ เนื้อหาและวิธีการเสนอเนื้อหา รวมทั้งการอ้างอิง

 

และนอกจากวรรณกรรมโลกศาสตร์ทั้ง 8 เรื่องนี้แล้ว ผู้วิจัยยังได้ศึกษาผลงานอีก 3 เรื่องของพระสิริมังคลาจารย์ ได้แก่ เวสสันตรทีปนี มังคลัตถทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา รวมถึงศึกษาเตภูมิกถา สมัยสุโขทัย และไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อนำข้อมูลมาเสริมและยืนยันลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่าด้านการอ้างอิงของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีด้วย

 

จากการวิจัยของอาจารย์แม่ชีวิมุตติยา แสดงให้เห็นว่า ลักษณะเด่นภูมิปัญญา และคุณค่าของคัมภีร์จักกวาฬทีปนี เกิดจากความเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและรอบรู้จัดเจนในคัมภีร์ต่างๆ ของพระสิริมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญแห่งยุคสมัยที่การศึกษาและการแต่งวรรณกรรมบาลีในล้านนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง

 

ลักษณะเด่นด้านเนื้อหาของจักกวาฬทีปนีที่แตกต่างจากคัมภีร์โลกศาสตร์เรื่องอื่นๆ มีหลายประการ เช่น จักกวาฬทีปนีมุ่งหมายจะแสดง “โอกาสโลก” หรือพื้นที่สถานที่ต่างๆ ในจักรวาล โดยกล่าวถึง “ชีวิต” ที่อยู่ตามสถานที่เหล่านั้นเพื่อให้การอธิบายพื้นที่หรือสถานที่นั้นๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การนำเสนอเนื้อหาไม่ได้เป็นการพรรณนาตามลำดับภพภูมิดังที่เป็นขนบสืบทอดกันมาในคัมภีร์โลกศาสตร์ แต่นำเอาพื้นที่หรือสถานที่ต่างๆ ในจักรวาลเป็นตัวตั้งแล้วอธิบาย นอกจากนี้ การอธิบายในหัวข้อย่อยก็เป็นการวินิจฉัยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขัดแย้งไม่ตรงกันในคัมภีร์ต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์หาความถูกต้องซึ่งคัมภีร์อื่นๆ มิได้กล่าวถึง

 

จักกวาฬทีปนียังมีลักษณะเด่นในการแสดงคำศัพท์ โดยรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังกล่าวถึงแต่ละเรื่องมาอย่างครบถ้วน แล้ววิเคราะห์ความหมายและที่มาของรูปศัพท์ แจกแจงความเห็นที่แตกต่างกันในคัมภีร์ต่างๆ แล้ววินิจฉัยความถูกต้อง รวมถึงแสดงไวพจน์ หรือคำที่มีความหมายเดียวกันกับคำศัพท์เหล่านั้นด้วย เช่น การอธิบายความหมายของคำว่า “โลก” ได้แก่ โลก สัตวโลก โอกาสโลกขันธโลก สังขารโลก ฯลฯ 

 

ลักษณะเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของจักกวาฬทีปนีคือ เนื้อหาการวิเคราะห์ของพระสิริมังคลาจารย์ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ได้รวบรวมคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา อนุฎีกา คัมภีร์ไวยากรณ์ และปกรณ์พิเศษต่างๆ ซึ่งมีสาระแตกต่างกันมาเปรียบเทียบแล้ววิเคราะห์สรุปเพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องที่สุด โดยมีการระบุที่มาของข้อมูลอย่างละเอียด มีการอ้างอิงถึง 1,089 แห่ง ซึ่งการเน้นการอ้างอิงนี้เป็นเอกลักษณ์ของพระสิริมังคลาจารย์ แสดงให้เห็นความรอบรู้ของท่าน รวมทั้งภูมิปัญญาในการจัดระบบการศึกษา การรวบรวมและจัดเก็บคัมภีร์พุทธศาสนาบาลีในล้านนาในสมัยนั้น

 

ความรอบรู้และความเป็นนักวิชาการของพระสิริมังคลาจารย์ ทำให้ท่านนำเสนอเนื้อหาแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นตามลำดับน้ำหนักความน่าเชื่อถือและยุคสมัยที่รวบรวมหรือรจนาคัมภีร์ ใช้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านตั้งแต่พระไตรปิฎกจนถึงคัมภีร์ปกรณ์พิเศษ แล้วเปรียบเทียบความถูกต้องโดยถือสาระในพระไตรปิฎกเป็นหลัก การตีความต่างๆ ทำโดยความสุขุมรอบคอบถี่ถ้วนตามหลักฐาน ทำให้จักกวาฬทีปนี ไม่เป็นเพียงคัมภีร์แสดงหลักธรรมอันลึกซึ้งทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็น “งานวิชาการ” ที่โดดเด่นทั้งเนื้อหาและวิธีการศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างงานวิชาการหรืองานวิจัยได้แม้ในปัจจุบัน

 

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมภาษาบาลี รวมทั้งความวิริยอุตสาหะของผู้วิจัย ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์จักกวาฬทีปนีกับคัมภีร์โลกศาสตร์อื่นๆ โดยตั้งประเด็นการศึกษาวิเคราะห์ต่างๆ อย่างละเอียดครบถ้วนรอบด้าน เพื่อทำความเข้าใจและนำเสนอให้เห็นลักษณะอันโดดเด่นของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีอย่างเด่นชัด การนำเสนอได้พยายามจัดแบ่งบทและหัวข้อต่างๆ อย่างชัดเจน มีตารางสรุปเปรียบเทียบอย่างละเอียด ทั้งยังมีการสรุปประวัติ โครงสร้าง และวิธีการนำเสนอเนื้อหาของคัมภีร์โลกศาสตร์บาลีเรื่องต่างๆ รวบรวมไว้ในภาคผนวกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาทำความเข้าใจวรรณกรรมโลกศาสตร์ต่อไป

 

งานวิจัยนี้อาจเป็นงานวิจัยที่อ่านยากสำหรับผู้อ่านทั่วไป ด้วยเนื้อหาและคำศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง รวมทั้งการนำเสนอในลักษณะที่เป็นวิชาการอย่างมาก แต่หากพิจารณาความสำคัญของคัมภีร์จักกวาฬทีปนี ซึ่งเป็นคัมภีร์โลกศาสตร์เรื่องสำคัญ และเป็นผลงานชิ้นเอกของพระสิริมังคลาจารย์ที่มีลักษณะพิเศษต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยนี้ว่า ได้สร้างองค์ความรู้อันสำคัญในการศึกษาและทำความเข้าใจวรรณกรรมโลกศาสตร์และวรรณกรรมพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ทำให้เห็น “ลักษณะเด่น” และความสำคัญในฐานะมรดกแห่ง “ภูมิปัญญา” ที่สืบทอดมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยยุคทองแห่งวรรณกรรมบาลีในดินแดนล้านนาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปทำความเข้าใจวรรณกรรมประเภทโลกศาสตร์ที่มี “คุณค่า” ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาทุกยุคทุกสมัย

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

อาจารย์แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง). จักกวาฬทีปนี: ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2554, 444 หน้า.

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 185-189) 

 

 

Download