วารสารไทยศึกษา - ปีที่ 10 ฉบับที่ 1

 

 

1) ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และหนทางพ้นทุกข์ตามแนวคิดพุทธศาสนาระดับโลกิยะในบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง และคาวี / พัชรินทร์ บูรณะกร

 

2) การสร้างสรรค์ชาดกเรื่องพระมหาชนกในรูปแบบการ์ตูนโทรทัศน์ / สุภัค มหาวรากร, พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ

 

3) จาก “ชาดก” สู่ “เพลง” : การรับรู้ความหมายและบทบาทของสื่อ / นิธิอร พรอำไพสกุล

 

4) ดอกไม้วิจิตร : มรดกศิลปวัฒนธรรมในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ / รุ่งอรุณ กุลธำรง

 

 

แนะนำหนังสือ 

 

“เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี” / อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และหนทางพ้นทุกข์ตามแนวคิดพุทธศาสนาระดับโลกิยะในบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง และคาวี

พัชรินทร์ บูรณะกร 

 

บทคัดย่อ

 

บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง และ คาวี ได้นำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และทางพ้นทุกข์ โดยนำเสนอเรื่องทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ และทุกข์กายที่เกิดพร้อมกับทุกข์ใจ ซึ่งมีเหตุแห่งทุกข์มาจากการที่ต้องพลัดพรากจากกัน จากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งวิเคราะห์ตามหลักปฏิจสมุปบาทพบว่ามนุษย์ที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น เกิดจากอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เป็นตัวนำให้เกิดเวทนา สังขาร และภพ คือการคิดและกระทำการอันไม่ดีต่อผู้อื่น ตัวละครที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นเวียนว่ายอยู่ในวงจรแห่งทุกข์ทั้งก่อทุกข์แก่ตนเองและขยายขอบเขตของทุกข์ไปยังผู้อื่นด้วย หนทางพ้นทุกข์ที่บทละครนอกนำเสนอคือ การพ้นทุกข์ด้วยความมานะพยายาม ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยการให้อภัย

 

บทละครนอกทั้ง 2 เรื่อง คือ สังข์ทอง และ คาวี อันมีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากปัญญาสชาดกนี้ ได้นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาไว้อย่างเด่นชัด และนำเสนอด้วยกลวิธีของงานเขียนบันเทิงคดีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับสาระความรู้อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าบทละครนอกจึงเป็นวรรณคดีที่สืบทอดวัฒนธรรมชาดกจากปัญญาสชาดกทั้งกลวิธีนำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาและแนวคิดทางพุทธศาสนาในระดับเบื้องต้นได้อย่างชัดเจน

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 1-25) 

 

 

Suffering in Buddhism on “Lakhon Nok” story “Sangthong” and “Kawi”

 

Patcharin Buranakorn

 

Abstract

 

The study reveals that “Sangthong” and “Kawi” present the Buddhist dharma of suffering, cause of suffering and the way leading to the end of suffering. They show all types of suffering such as physical suffering, mental suffering and both physical and mental suffering at the same time. The causes of the suffering are the separation from the beloved and human act. According to the doctrine of pratītyasamutpāda, man make other suffered from Avidyā, Vedanā and Upādāna which cause Vedanā, Sangskāras and Bhava. These are bad thought and act toward other. The characters that make other suffered stay in the cycle of sufferings of themselves and extend the suffering to others. In the Lakhon Nok’s play, the way to the end of suffering is to do with effort, faithfulness and forgiveness. 

 

In summary, both “Sangthong” and “Kawi”, which were assumed the origin of Paññāsa Jātaka, present obviously the Buddhist dharma and present with the technique of f iction for the purpose of reader’s entertainment. At the same time, readers also gain the benef icial information for life. Therefore Lakhon Nok is the literature inherits of the Paññāsa Jātaka culture including technique to present Buddhist dharma and primary notion of Buddhism evidently.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 1 (February – July 2014) Page 1-25)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

การสร้างสรรค์ชาดกเรื่องพระมหาชนกในรูปแบบการ์ตูนโทรทัศน์

สุภัค มหาวรากร และ พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอชาดกเรื่องพระมหาชนกในรูปแบบการ์ตูนโทรทัศน์ และบทบาทของสื่อการ์ตูนโทรทัศน์เรื่องพระมหาชนกในสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า การ์ตูนโทรทัศน์เรื่องพระมหาชนกที่แพร่ภาพในสื่อโทรทัศน์และนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับผู้เสพคือเด็กๆ ในสังคมไทย 4 ประการ ได้แก่ การอธิบายขยายความ “วิริยบารมี” ให้เข้าใจง่าย การนำเสนอภาพตัวละครพระมหาชนกและเพื่อนๆ ในนครกาลจัมปากะ การสร้างเหตุการณ์เพิ่มเติมคือพระมหาชนกถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง การหนีออกจากบ้าน ด่านทดสอบบารมี และการสร้างฉากและเครื่องแต่งกายตัวละคร ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กๆ รับรู้และเข้าใจชาดกเรื่องนี้ง่ายขึ้น งานวิจัยนี้ทำใหเห็นบทบาทของการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องพระมหาชนกในสังคมไทย 2 ประการ ได้แก่ การสอนธรรมะ และการยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นการรับรู้และเรียนรู้หลักธรรมทางพุทธศาสนาผ่านสื่อสารมวลชนที่นับวันยิ่งมีอิทธิพลในสังคมไทย

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 27-53) 

 

 

The Creation of Mahājanaka Jātaka for Television Cartoon

 

Supak Mahavarakorn and Prit Supasetsiri

 

Abstract

 

This research aimed to study the change of presenting Pramahajanaka in the form of television animation and its role in the media of the Thai society. Findings revealed that the detail story of Pramahajanaka in television animation which was broadcast through television media and remade in the form of video media (DVD) has been changed and adapted to suit the audience who are children in the Thai society. The change involves four aspects. First, the term “Viriya Parami” was clearly defined and explained. Second, the characterization of the main characters focused on Pramahajanaka and his friends in the City of Kalajambaka. Third, the plotting of main events included Pramahajanaka’s being badly treated by friends, his fleeing from home, and being tested of his incarnated power. Fourth, screen and costume were well-designed. All changes facilitated the perception and understanding of children. Obviously, this study reflected the role of Pramahajanaka Animation in the Thai society in two ways: the teaching of Dhamma and the glorification of His Majesty King Bhumibol Adulyadej Indeed, it is an effective way of learning Buddhist teaching of Dhamma through the increaslying influential mass media in the Thai society.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 1 (February – July 2014) Page 27-53)

 

บทความ / Full Text :  Download

 

 

จาก "ชาดก" สู่ "เพลง" : การรับรู้ความหมายและบทบาทของสื่อ

นิธิอร พรอำไพสกุล 

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์การรับรู้ความหมายเวสสันดรชาดกจากพระไตรปิฎกสู่สื่อเพลงร่วมสมัย และบทบาทของสื่อเพลงร่วมสมัยเวสสันดรชาดกในสังคมไทย ผลการศึกษาพบว่าการรับรู้ความหมายของเวสสันดรชาดกเกิดจากการ “สืบทอด” เหตุการณ์หลักและตัวละครสำคัญจากเวสสันดรชาดกในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเวสสันตรชาดก อนุภาคดังกล่าวส่งผลต่อการรับรู้ความหมายที่ทำให้เกิดภาพในใจ นอกจากนี้ยังใช้มิวสิควีดิโอเน้นย้ำความหมายด้วย “ภาพ” การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร ความเป็นนางแก้ว ของพระนางมัทรี และการปรับเปลี่ยนให้ชูชกเป็นทั้ง “พระเอก” และ “ผู้ร้าย” ซึ่งเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้ตัวละคร ส่วนบทบาทของสื่อเพลงร่วมสมัยเวสสันดรชาดกพบว่ามีบทบาท 3 ประการ ได้แก่ บทบาทในการให้ความบันเทิง หรือสร้างความเพลิดเพลิน บทบาทในการรักษา และสืบทอดความสำคัญของประเพณีบุญผะเหวด และบทบาทในฐานะเป็นเครื่องมือเผยแพร่คำสอนพุทธศาสนา

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 55-87) 

 

 

From “Jataka” to “Songs”: The Semantic Perception and the roles of media in Thai society

 

Nition Pornumpaisakul

 

Abstract

 

The research study was aimed at analyzing the semantic perception of Vessantara Jataka from Tipitaka to media of contemporary songs and the roles of such media in the Thai society.

 

Findings showed that the semantic perception of Vessantara Jataka was derived from “inheritance” events and the main characters of Vessantara Jataka in Tipitaka and Atthakatha Vessantara Jataka. The motif resulted in semantic perception bringing about images or pictures in mind. In addition, the use of music video confirmed the meaning through “picture” of merit making of Pra-vessantara and the excellent woman of Maddi. The role of Jujaka representing both hero and villain is a way of constructing new meaning for characters. Regarding the roles of media of contemporary songs, results showed that the media has three roles: to entertain, to keep the whole view of merit-making of Bun Phawet (Buddhist festival celebrated in the fourth month in Isan) and to propagate the teaching of Buddha.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 1 (February – July 2014) Page 55-87)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

ดอกไม้วิจิตร : มรดกศิลปวัฒนธรรมในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รุ่งอรุณ กุลธำรง 

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การสร้างสรรค์ดอกไม้วิจิตรในงานช่างสิบหมู่ และแนวคิดการสร้างสรรค์ดอกไม้วิจิตรในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการวิจัยเชิงเอกสาร ผลการวิจัยพบว่าในสังคมไทยมีการสร้างสรรค์ดอกไม้วิจิตรในงานช่างก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือในดินแดนสุวรรณภูมิมีงานสลักหินรูปดอกบัวบานเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าก่อนมีการสร้างพระพุทธรูป แล้วมีงาน สร้างสรรค์ลายดอกบัว ลายดอกพุดตานในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงสุโขทัย สืบเนื่องมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลปัจจุบันที่มีการสร้างสรรค์ดอกไม้วิจิตรโดดเด่น ลายดอกไม้วิจิตรต่างๆ มีทั้งลายดอกบัว ลายดอกพุดตาน ลายดอกพิกุล ลายดอกไม้ทิพย์ ลายดอกไม้ประดิษฐ์ ลายดอกไม้ธรรมชาติ ปรากฏเป็นส่วนประกอบหนึ่งของงานช่างสิบหมู่เพื่อบูชาพระพุทธศาสนาประเภทอามิสบูชา อันมีคุณค่ายิ่งซึ่งมีแนวความคิด 3 ประการที่มาจาก 1) การศึกษาธรรมชาติเรื่องดอกไม้ ได้แก่ ดอกบัว ดอกพุดตาน 2) ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระวินัย ความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า บุคคลกับดอกบัว พุทธประวัติ การบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม การแสดงวิมานที่เป็นผลแห่งกรรมดี 3) การสืบทอดงานช่างสิบหมู่ ได้แก่ งานลายดอกบัวต่างๆ การนำลายดอกไม้วิจิตรไปใช้ในงานช่างสิบหมู่ทางพระพุทธ ศาสนา รวมทั้งมีตำรา การสร้าง การปฏิสังขรณ์พุทธศาสนสถาน พุทธศาสนวัตถุ ตามรูปแบบเดิมจากรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) ด้วยการ บูรณาการศาสตร์และศิลป์แห่งดอกไม้วิจิตรจนกลายเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 89-126) 

 

 

The Exquisite Flower Pattern: The Artistic and Cultural Legacy of the Ten Thai Arts and Crafts of the Rattanakosin Era

 

Rungaroon Kulthamrong

 

Abstract

 

This article, based on the documentary research, aims to analyze the creation of the exquisite flower pattern of the Ten Thai Arts and Crafts during the Rattanakosin period. The study has found that this Thai artistic floral pattern has been used in arts and crafts long time before the Rattanakosin Era. Moreover, the stonework in the form of lotus flower had been widely used in the Land of Gold, or the Suwannabhumi, as a symbol to worship before the image of the Buddha had been created. Also the design of the lotus pattern, as well as the Hibiscus one, had been passed by the Ten Thai Arts and Crafts group from the Sukhothai period to the Rattanakosin. The design of this exquisite floral shape pattern has been developed especially during the reign of King Rama III and King Rama IX (the present one). All the flower patterns such as the lotus, the Hibiscus (cotton rose), the genus Dalbergia (bullet wood), the Montarop (flower of paradise), either the elaborated flowers or the natural ones are found in the creative works of the Thai artists and craftsmen as a part of their valuable offering to Buddhism (Amisa Puja).

 

There are three ideas that influence the works of these beautiful flower patterns: 1) the study of flowers in nature such as the lotus and the cotton rose 2) the faith in Buddhism, for example, the Buddhist canons, the purity of Lord Buddha, the symbol of lotus and mankind, the legend of Buddha, Buddhist offerings, Dharma, and the image of Buddhist paradise (Swarga) 3) the continuance of the Ten Thai Arts and Craftwork such as the works with lotus design, etc.

 

With the willing to integrate the knowledge about the arts of this exquisite flower pattern of the Ten Thai Arts and Crafts through textbooks, architecture and restoration of the Buddhist places and objects as the original one from the reign of King Rama I until now (2015), these beautified arts then become the artistic and cultural legacy of the Rattanakosin era.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 1 (February – July 2014) Page 89-126)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

แนะนำหนังสือ “เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี”

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล 

 

 

ประเด็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐในปัจจุบันที่คิดต่างกับชุมชน นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการพัฒนาที่ขาด “การเรียนรู้” ที่มาหรือรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชน ไม่เพียงจะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นในสังคมอันจะกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาต่อไป วารสารไทยศึกษาฉบับนี้จึงจะขอแนะนำหนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปีพุทธศักราช 2555 เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และรัชนีบูล ตังคณะสิงห์

 

หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในรากเหง้าและความเป็นมาของบ้านเมืองขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในเขตอีสานเหนือที่เรียกว่า “เมืองหนองหารหลวง” หรือ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นถิ่น “พุทธธรรม” เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของพระอริยสงฆ์สายพระป่าที่ใช้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นพื้นธรรม จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็น “มหาวนาสีแห่งภูพาน” หรือสำนักวัดป่าที่สำคัญของดินแดนแถบนี้

 

ในดินแดนบริเวณหนองหารนี้มีดอนหรือเกาะชัดเจนหลายแห่ง มีดอนที่ใหญ่ที่สุดและเต็มไปด้วยไม้หนาแน่นคือ “ดอนสวรรค์” ซึ่งพื้นที่ดอนสวรรค์นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชาวเมืองสกลนครที่เป็นที่นิยมกันในอดีต ขณะที่ต่อมาได้มีการประกาศจากราชการให้พื้นที่เดียวกันนี้เป็นที่วัดร้าง ตั้งแต่ พ.ศ.2472 กระทั่งต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2555 มีความพยายามจะออกโฉนดบนพื้นที่ดังกล่าว ภาคประชาชนในพื้นที่สกลนครจึงต้องออกมาคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ เพื่อรักษาสมบัติสาธารณะ (Commom property) ที่มีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงนิเวศและความหมายต่อชีวิตและสังคมของคนสกลนครทั้งปวง ส่งผลให้กลุ่มนักวิชาการในมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในมิติโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยให้ปรากฏการณ์ “รักษาบ้านเกิดเมืองนอน” ของชาวสกลนครในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่นของคนสกลนครเองและผู้สนใจ โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และในการเป็นเมืองโบราณที่เป็นถิ่นฐานอันเก่าแก่ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบอรัญวาสี เพื่อสืบทอดรากเหง้าและรักษาอัตลักษณ์ในความเป็นเมืองริมหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และถิ่นมั่นในพุทธธรรมให้คงอยู่ต่อไป

 

หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี แบ่งเนื้อหาเป็น 8 ตอน ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ส่วนคือ ส่วนแรกคือส่วนนำเรื่องให้ผู้อ่านเข้าในในบริบทของสถานการณ์และภาพรวมของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตอนที่ 1 “หนองหาร” แห่งสกลนคร บอกเล่าเรื่องราวเชิงกายภาพของพื้นที่หนองหาร ตลอดจนพัฒนาการของพื้นที่ในภาพรวมเพื่อให้เห็นถึงสายธารของการเปลี่ยนแปลงอันนำมาสู่การคิดต่างในเชิงบริหารจัดการพื้นที่ โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานข้อมูลเชิงสังคมวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ

 

ต่อมาเป็นส่วนที่ 2 คือส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ได้แก่ ตอน “แคว้นโบราณหนองหารหลวงและเมืองสกลนคร” ตอน “เมืองสกลนครโบราณในรัฐ “ศรีโคตรบูร” และตำนานอุนังคธาตุ” และ ตอน “ลำน้ำ ผู้คน และการตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำสงคราม” โดยเนื้อหาในส่วนที่ 2 นี้ได้เชื่อมโยงข้อมูลโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพื้นที่หนองหารสกลนคร ตั้งแต่สมัยยุคสำริด คือเมื่อราว 3,500 – 4,000 ปีก่อนปัจจุบัน จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อมูลดังกล่าวเน้นย้ำให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของมนุษย์บนผืนแผ่นดินแถบนี้มายาวนาน อันเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความหมายและความสำคัญของพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้น นักโบราณคดียังได้พบโบราณวัตถุหลายอย่างที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแถบนี้ รวมทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการเฟื่องฟูของยุคเหล็กในแอ่งสกลนคร อันเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยกับวัฒนธรรมซาหวิ่งห์ในตอนกลางประเทศเวียดนาม ขณะที่หลักฐานเชิงวรรณกรรมที่สำคัญในดินแดนแถบนี้คือ “ตำนานอุรังคธาตุ” หรือตำนานพระธาตุพนม ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหากัสสปะนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรี หรือ ภูกำพร้า อีกนัยหนึ่งคือพระธาตุพนม

 

ในตำนานอุรังคธาตุนี้ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่น ที่หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนมเป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ และทำนายการเกิดของนครเวียงจันทน์ สิ่งที่โดดเด่นและน่าสนใจประการหนึ่งในตำนานอุรังคธาตุคือการกล่าวถึงกำเนิดของแม่น้ำสำคัญๆ ตามลำน้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาคซึ่งแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยในหนองแสในเขตยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน นาคเหล่านั้นได้ทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิมล่องมาตามลำน้ำโขงทางใต้ ขุดควักพื้นดินทำให้เกิดแม่น้ำสายต่างๆ ขึ้น เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำงึม แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนหนังสือนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่นิยมกันมากในบรรดาบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่หนองแส ซึ่งเป็นตอนต้นน้ำในเขตยูนนาน ลงมาจนถึงเมืองเขมรตอนปากแม่น้ำโขงมีลัทธิเคารพบูชานาค นาคมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะเป็นบรรพบุรุษ ยิ่งไปกว่านั้น นาคยังเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองและความยุติธรรม ซึ่งผู้เขียนได้ตีความความหมายของนาคไว้อย่างน่าสนใจว่านาคมี 2 ลักษณะคือ นาคในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม และ นาคในลักษณะที่เป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนา

 

นอกจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้เขียนยังกล่าวถึง “แม่น้ำสงคราม” ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของพื้นที่บริเวณนี้ ผู้เขียนได้แบ่งลุ่มน้ำข้างต้นเป็น 2 พื้นที่ตามการก่อตัวเป็นชุมชน ได้แก่ ลุ่มน้ำสงครามตอนบน คือบริเวณที่ตั้งอยู่เทือกเขาภูพานลงมา ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร จนถึงอำเภอหนองหานและอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ต่อมาก่อกำเนิดเกิดเป็นชุมชนผ่านยุคสมัยต่างๆ กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มเมืองในบริเวณนี้และมีชื่อตามตำนานว่า “แคว้นศรีโคตรบูร” มีความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับหลวงพระบางอย่างต่อเนื่อง และลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านเหนือของอำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ลงไปจนถึงอำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร หรืออีกนัยหนึ่งคือบริเวณสองฝั่งลำน้ำสงครามจากบริเวณอำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ไปจนถึงอำเภอศรีสงครามและอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งการเกิดชุมชนในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างที่มีการสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการกวาดต้อนผู้คนที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งตามตระกูลภาษาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พวกไท-ลาว ได้แก่ โย้ย ย้อ และพวกมอญ ขะแมร์ ได้แก่พวกข่า โซ่ กะเลิง ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดบ้านเมืองร่วมสมัยกับทางลุ่มน้ำสงครามตอนบนขึ้นในจังหวัดนครพนมและสกลนครหลายแห่ง ซึ่งในหนังสือนี้ผู้เขียนได้เน้นย้ำให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีความหลากหลายในทางเผ่าพันธุ์แต่ก็ได้ผ่านบรูณาการทางวัฒนธรรมลาว คือมีการสร้างวัดทางพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งสิมและธาตุเป็นจุดศูนย์กลางในการทำพิธีกรรมและกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน มีระบบการถือผี เลี้ยงผีที่คล้ายคลึงกัน เช่น การนับถือศาลปู่ตา ศาลมเหสักข์ เป็นต้น

 

เนื้อหาของหนังสือส่วนที่ 3 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสกลนครกับพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสี ได้แก่ ตอนที่ 5 “ภูพานมหาวนาสี” และตอนที่ 6 “ภูผาศักดิ์สิทธิ์และอรัญวาสี” เนื้อหาในส่วนนี้ทำให้เห็นภาพของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะ “สำนักวัดป่า” หรือ “มหาวนาสี” ที่มีมาอย่างยาวนานของดินแดนแถบนี้ได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนโดยอาศัยหลักฐานเชิงโบราณคดีโดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ดินแดนแถบนี้เป็นที่เป็นที่ตั้งของสำนักวัดป่ามาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ทั้งนี้พิจารณาจากการสืบเนื่องของการเป็นแหล่งปฏิบัติทางสูญญตา การเน้น คาถาเย ธัมมา ซึ่งหมายถึงการรับรู้ในเรื่องอริยสัจสี่ และการสอนธรรมะด้วยมหานิบาตชาดก อันหมายถึงการพัฒนาจิตของพระโพธิสัตว์เจ้า ตั้งแต่อยู่ในระดับสัตว์เดรัจฉานจนถึงการเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากแหล่งพุทธสถานทวารวดีในยุคก่อนเช่นที่ ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ภูปอ ภูค่าว เมืองฟ้าแดดสงยางในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองกันทรวิชัย เมืองนครจัมปาศรีนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แหล่งเสมาหินที่กุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ ส่วนการที่เห็นว่าเป็นแหล่งพุทธสถานในยุคทวารวดี ก็เพราะรูปแบบทางศิลปะที่พบตามลักษณะพระพุทธรูป เทวรูป และลวดลายที่พบในแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ ล้วนได้รับอิทธิพลศิลปะขอมแต่สมัยปาปวนลงมาจนถึงสมัยบายน ขณะที่การสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยล้านช้าง ล้านนา นั้นเห็นได้จากการสร้าง “ตำนานอุรังคธาตุ” อธิบายความเป็นมาของพุทธสถานในครอบครองของพระเจ้าเลียบโลก และการสร้างรอยพระพุทธบาทให้เป็นที่สักการะและประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาลของผู้คน

 

การเป็นอารามในท่ามกลางป่าเขาที่ทำหน้าที่มาแต่ครั้งอดีต ส่งผลให้เกิดพระป่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บริเวณนี้ เนื่องจากจะเห็นว่าพระป่าสายอีสานก็ยังคงอาศัยป่าเขาโดยเฉพาะท้องถิ่นริมฝั่งโขงสร้าง “มหาวนาสี” ในที่อื่นๆ ต่อมาอีกมากมาย พระอริยสงฆ์ทางอีสานหลายรูป เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และศิษย์รุ่นต่อมาอย่างพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นศิษย์พระอริยสงฆ์สายอีสานผู้ตั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกายในอีสานในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก็มีฐานการปฏิบัติธรรม การออกธุดงค์อยู่รุกขมูล (โคนต้นไม้) วิปัสสนากรรมฐานตามแบบพระป่าในท้องถิ่นอีสานมาก่อนที่จะบวชอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ธรรมยุติกนิกายในภายหลัง ในประเด็นนี้ผู้เขียนจึงได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

 

… พระป่าสายอีสานนั้นมิได้สืบทอดมาจากพระฝ่ายอรัญวาสีแบบลังกาวงศ์ที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้สืบสายพระสายวิปัสสนาธุระในธรรมยุติกนิกายที่เข้ามาสู่ดินแดนอีสานเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 หากแต่สืบเนื่องมากแต่ครั้งยังมีภูพานมหาวนาสีเมื่อพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่อีสานแต่เริ่มแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และเป็นการสืบทอดพระสายวิปัสสนาธุระแห่งอรัญวาสีที่เก่าแก่และต่อเนื่องยาวนานที่สุด โดยมิได้รับตกทอดมาจากแห่งใด (หน้า 39)

 

เนื้อหาในส่วนสุดท้ายของหนังสือบอกเล่าวิถีชีวิตและความหมายเชิงวัฒนธรรมของชาวสกลนครกับหนองหารผ่านภาพถ่ายที่เป็นเสมือนมรดกความทรงจำที่มีต่อพื้นที่นี้ไว้ในตอนที่ 7 “ภาพถ่ายแห่งความทรงจำจากหนองหาร : “เรือนางคำไหล” ชนะที่ 1 ในงานออกพรรษา พ.ศ.2482 หนองหารสกลนคร คณะท่าวัด” และตอนที่ 8 "เมืองสกลนครจากภาพถ่ายของพระดุลยภาณสรประจักษ์ (บุญมาก ตังคณะสิงห์) ช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ณ เมืองสกลนครระหว่าง พ.ศ.2477-2489” ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เห็นแง่มุมของวิถีชีวิตชาวสกลนครในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด ทั้งภาพถ่ายประเพณีการแข่งเรือ ภาพถ่ายของข้าราชการเมือง ภาพถ่ายงานและกิจกรรมสำคัญของชุมชน

 

หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี ได้ย้อนภาพอดีตของเมืองหนองหารหลวง หรือจังหวัดสกลนครได้อย่างเด่นชัด ด้วยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ผนวกกับการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่จึงทำให้เป็นผลงานวิชาการที่น่าสนใจและเป็นคลังความรู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในวงวิชาการ นับเป็นหนังสือที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่งที่เหมาะแก่ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในแอ่งอารยธรรมอีสาน นักวิชาการด้านพุทธศาสนศึกษา ตลอดจนนักคติชนวิทยาและนักมานุษยวิทยาศาสนา

 

 

บรรณานุกรม

 

ศรีศักร วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และรัชนีบูล ตังคณะสิงห์. เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2555

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 127-133) 

 

 

Download