วารสารไทยศึกษา - ปีที่ 10 ฉบับที่ 2

 

 

1) บทบาทของพระสงฆ์ สามเณร กับงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ / รุ่งอรุณ กุลธำรง

 

2) บทพากย์-เจรจาหนังใหญ่วัดบางดอน จังหวัดระยอง : มรดกวรรณคดีการแสดของชาวบ้าน / รัตนพล ชื่นค้า

 

3) ภูมิปัญญา “ผ้าไหมแพรวาผู้ไทบ้านโพน” : พลวัตและการปรับตัว / นิตยา วรรณกีตร์

 

4) ผ้าย้อมคราม : การทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าในกระแสโลกาภิวัฒน์ / ดนัย ชาทิพฮด

 

5) พลวัตทางพหุสังคมและพหุวัฒนธรรมของผู้คนในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2522-2553 / พรชัย นาคสีทอง, อนินทร์ พุฒิโชติ

 

6) ความเป็นชายในมัทนะพาธา / พรรณราย ชาญหิรัญ

 

 

แนะนำหนังสือ

 

“จักรวาฬทีปนี : ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า” / อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

บทบาทของพระสงฆ์ สามเณร กับงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รุ่งอรุณ กุลธำรง

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาที่มาและบทบาทของพระสงฆ์ สามเณรในสังคมไทยกับงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยวิธีการวิจัยเอกสาร 

 

ผลการศึกษาพบว่า บทบาทของพระสงฆ์ สามเณรเกี่ยวกับงานช่างมีที่มาจากสาระในพระไตรปิฎกที่เป็นพระวินัยปิฎกในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำนวกรรม (การก่อสร้าง) หรือให้ผู้อื่นทำนวกรรมหรือปฏิสังขรณ์เสนาสนะ 5 ชนิด มีวิหาร ปราสาท เรือนมุงแถบเดียว เรือนโล้น ถ้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ เช่น บานประตู หน้าต่าง เพดาน จิตรกรรมฝาผนัง บันได ซุ้มประตู เตียง ตั่ง รวมทั้งการอบรมนวกรรมให้แก่คฤหัสถ์ ในสมัยต่อๆ มาจึงมีการพัฒนาบทบาทงานช่างของพระสงฆ์ สามเณรตามความเจริญและกาลสมัยมายังสยามซึ่งมีผลงานช่างคือ วัด จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเรียกงานช่างดังกล่าวว่างานช่างสิบหมู่ ซึ่งพระสงฆ์ สามเณรแสดงบทบาทความเป็นช่าง ผู้อำนวยการงานช่าง ครูช่าง ลูกศิษย์ช่าง และผู้อนุรักษ์งานช่างในวัด ด้วยวิธีการศึกษาแบบโบราณแล้วพัฒนาสู่การศึกษานอกระบบโรงเรียน ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามพระราชดำริการจัดการศึกษาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2557) เพื่อการสืบทอดพระพุทธศาสนากับงานช่างสิบหมู่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมไทยสืบไป

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 1-37) 

 

 

The Role of Buddhist Monks and Novices with Respect to the Ten Thai Arts and Crafts during the Rattanakosin Period

 

Rungaroon Kulthamrong

 

Abstract

 

The aim of this research article is to focus on the tradition and the role of Buddhist monks and novices with respect to the Ten Thai Arts and Crafts during Rattanakosin Period.

 

The research found that the role of monks and novices as related to arts and crafts work can be traced to the Tripitaka Buddhist Scriptures in the section of monastic disciplines or Vinaya Pitaka. There is evidence from the time of the Buddha that monks received the Buddha’s permission in conducting Navakam (construction) by themselves or supervising someone in the repair of five kinds of Senasana (lodgings): temples; central shrines; traditional thatched-roof houses; empty abodes or uninhabited spots; and caves – including the structural elements of door panels, windows, ceilings, moral paintings, stairs, arched entrances, beds, and stools. The role of monks and novices also included training in Navakam for laymen. Their roles in arts and crafts work developed onward to the Rattanakosin Period of Siam with prominent construction work in monasteries which has been codified into the Ten Arts and Crafts Work. The monk and novice’s craftsmanship includes the roles of craftsman, supervisor, instructor or trainer, disciple, and conservator pertinent to the monasteries. Through the study on traditional construction, some standardization has been developed institutionally into the system of the Non-Formal Education established in the Dhamma Studies School according to the ideas regarding educational management of Somdej Phra Thep Rattana Rajasuda Siam Boromraja Kumaree since 2007 until the present time (2014). This systematized direction has continuously maintained the connection between Buddhism and the Ten Arts and Crafts Work as a cultural inheritance in Thai society.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 1-37)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

บทพากย์-เจรจาหนังใหญ่วัดบางดอน จังหวัดระยอง : มรดกวรรณคดีการแสดของชาวบ้าน

รัตนพล ชื่นค้า

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและเนื้อหาของ บทพากย์-เจรจาหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ซึ่งประกอบด้วย 1. บทพากย์-เจรจาตอนกำเนิดสองกุมาร ปล่อยม้าอุปการ พระบุตร-พระลบรบกับพระพรต-พระสัตรุด จนถึงพระรามเชิญนางสีดากลับเมือง สำนวนของนายเฉลิม มณีแสง 2. บทพากย์เกริ่นก่อนเริ่มการแสดง สำนวนของนายอำนาจ มณีแสง และ 3. บทเบิกโรงชุดจับลิงหัวค่ำ และบทเสภาประกอบการแสดง สำนวนของนายอำนาจ มณีแสง

 

ผลการศึกษาพบว่า บทพากย์-เจรจาหนังใหญ่ชุดดังกล่าวมีคุณค่าหลายประการในฐานะมรดกวรรณคดีการแสดงของชาวบ้าน ประการแรก แสดงให้เห็นลักษณะของการสืบทอดรูปแบบและเนื้อหาของบทพากย์-เจรจาหนังใหญ่แต่อดีต ได้แก่ การใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และร่ายยาว ในการดำเนินเรื่อง อีกทั้งเนื้อหาของบทพากย์ยังสัมพันธ์กับตัวหนังใหญ่ที่เหลืออยู่ ขณะที่บทเจรจามีลักษณะคล้ายบทสนทนาระหว่างตัวละคร มุ่งดำเนินเรื่องรวดเร็ว 

 

ประการที่สอง แสดงให้เห็นลักษณะของการสร้างสรรค์รูปแบบและเนื้อหาของบทพากย์-เจรจาหนังใหญ่ขึ้นใหม่ โดยเพิ่มเติมฉันทลักษณ์ประเภทกลอนบทละครและกลอนเสภาเข้ามา นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อเพลงร้องประกอบการแสดงละครด้วย แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะการแสดงหนังใหญ่กับละครรำอย่างชัดเจน

 

บทพากย์-เจรจาหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นร่องรอยของวรรณกรรมมุขปาฐะก่อนพัฒนาเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ ดังพบว่า บทพากย์เมืองมีเนื้อความซ้ำกันหลายตอน บทเจรจามีขนาดสั้นเมื่อเทียบกับบทเจรจาหนังใหญ่สำนวนอื่นๆ จำนวนคำและสัมผัสตามข้อบังคับฉันทลักษณ์ของบทพากย์-เจรจาไม่เคร่งครัดและไม่สม่ำเสมอ สอดคล้องกับรูปแบบการแสดงหนังใหญ่ของชาวบ้านที่ให้ความสำคัญกับ “มุขปาฐะ” จึงทำให้มีการปรับบทไปตาม คนพากย์-เจรจา สะท้อนลักษณะเด่นของวรรณคดีการแสดงของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 39-61) 

 

 

Nang Yai, Ban Don Temple, Rayong Province : Folk Performance Heritage

 

Rattanaphon Chuenka

 

Abstract

 

The purpose of this paper is to examine forms and contents of the narrations-negotiations in Nang Yai (large shadow puppets), Ban Don Temple, Rayong Province in the following episodes: 1) the birth of Phra Ram’s two sons, the performance of the horse sacrifice (a royal Vedic ritual known as Ashvamedha or “Upakara horse release” in Thai), the fight between the two sons of Phra Ram and their two uncles, Phra Phrot and Phra Satarut, up until Phra Ram invites Nang Sida to the return to Ayuthaya (all compose by Mr. Chalerm Maneesaeng); 2) the prologue, Mr. Amnat Maneesaeng’s version; 3) the prelude, chap ling huakham dance (with selection of either the white or the black monkey) and the additional sepha used in the performance, Mr. Amnat Maneesaeng’s version.

 

The study reveals various values of narrations-negotiations in the folk performance heritage. Firstly, there is evidence of the usage of Kap Yani 11, Kap Chabang 16 and Rai Yao that has continued from the past to today. The narrations are related to the ‘leftover leathers’, while the negotiations seem to be quick-performed dialogues among the characters.

 

Secondly, the research shows the creation of both form and content by adding klon bot lakhon and klon sepha together with mention of the names of songs, which indicates the integration between this performance and lakon ram (dance drama).

 

The narrations-negotiations in Nang Yai, Ban Don Temple is evidence of an oral literary tradition before the development of written literature as can be seen in the repetitions found in bot phakmuang (dialogue used in royal palace scenes), the shorter negotiating dialogues (compared with other versions) and the irregular narrations-negotiations. All of this reflects characteristics of an oral tradition through the adjustment of narrations-negotiations at the play speakers’ convenience.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 39-61)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

ภูมิปัญญา "ผ้าไหมแพรวาผู้ไทบ้านโพน" : พลวัตและการปรับตัว

นิตยา วรรณกีตร์

 

บทคัดย่อ

 

บทความนี้มุ่งศึกษากระบวนการทอผ้าไหมแพรวาของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทในชุมชนโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน การศึกษาเน้นมิติเรื่องพลวัตและพัฒนาการของภูมิปัญญาด้านการทอผ้า รวมทั้งบทบาทและสถานภาพของชุมชนกับการจัดการธุรกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองของชาวผู้ไทบ้านโพนในปัจจุบัน ผลการวิจัยพบว่า ในอดีตกระบวนการทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไทบ้านโพนมีลักษณะเป็นระบบภูมิปัญญาที่สะสมองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตมากกว่าการผลิตเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ผ้าไหมแพรวาจึงเปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทมาตั้งแต่บรรพชน ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้บทบาทของผ้าไหมแพรวาในฐานะภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นบทบาทในฐานะผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ชุมชนจึงเกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการพัฒนาและยกระดับกระบวนการทอผ้าให้เป็นธุรกิจในครัวเรือนและรวมตัวกันเป็นธุรกิจชุมชน ส่งผลให้การทอผ้าแบบดั้งเดิมที่เน้นการใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลายมาเป็นการทอผ้าในเชิงพาณิชย์

 

กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนถึงวิธีการเรียนรู้และการปรับตัวของชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จากภายนอกชุมชน ด้วยการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาผสมผสานและประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต การรวมกลุ่มในการทอผ้าไหมแพรวา ส่งผลให้เกิดองค์กรชุมชนที่ช่วยสร้างความสมานฉันท์ของคนในชุมชนและทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ธุรกิจชุมชนด้านการทอผ้านอกจากมีบทบาทต่อความเข้มแข็งของชุมชนแล้ว ยังสามารถพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นพื้นฐานที่ดีในการรองรับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้านอื่น นอกจากนี้การทอผ้ายังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมลักษณะอื่นที่สัมพันธ์กัน เช่น กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนบ้านโพนเป็นชุมชนที่สามารถนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาพัฒนาและปรับใช้ เพื่อให้เกิดช่องทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยไม่ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม การทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไทบ้านโพนจึงเป็นสิ่งเชื่อมต่อสำนึกทางวัฒนธรรมของชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบันและเป็นปัจจัยชี้ความสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 63-86) 

 

 

Wisdom in “Phrae-Wa Silk of Phu Thai, Baan Phon” : Dynamic and Assimilation

 

Nittaya Wannakit

 

Abstract

 

This article aims to examine the process of weaving Phrae-Wa silk by Phu Thai ethnic groups, located in Phon community, Khum-muang, Kalasin Province. Such a process has taken on the role as an important economic scheme of the community. The study focuses on two main aspects: the dynamic and expansion of the knowledge of weaving clothes; and the role and status of the community in managing the community to be a self-sufficiency business of the Phu Thai people in Baan Phon. The findings show that the process of Phrae-Wa silk weaving was developed through collective wisdom and experiences, instead of merely being produced for economic profit. The Phrae-Wa silk represents cultural heritage that conveys the essence of the Phu Thai ethnic group since its origins. Such cultural heritage then has been bound to a business system in a transition role of the Phrae-Wa silk as the traditional wisdom of the community. The silk product has become a substitution for a better quality of life in the community. Hence, people have adapted to change and transformed their weaving process from household commerce to a community business. The traditional weaving which served as the people lifestyle and culture accordingly has become commercial weaving.

 

The transition of the weaving process reveals the community’s approach and transformation according to the situation from the external society. From the application of their traditional wisdom, the community has created opportunities for their earning and living. In addition, the group of Phrae-Wa silk weavers has been transformed into a community organization to promote the people’s compatibilities and strengths and contribute to the progresses of the people’s various capacities, both directly and indirectly. Therefore, this has become a good source to serve other potential development in the community. The weaving helps the community engage in other complementary activities, such as home-stay, garments, mulberry farming for silkworm, etc. The above mentioned demonstrates that the Baan Phon community has been able to retain its traditional wisdom, which was then developed and applied to the community’s way of earning a living. This also reflects social change without eliminating the traditional culture. The Phrae-Wa weaving of the Phu Thai ethnic group in Baan Phon manifests the bond of the community’s cultural conscience from the past to present. This can be an indication, particularly, to encourage the community’s strength and sustainable self-reliance.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 63-86)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

ผ้าย้อมคราม : การทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าในกระแสโลกาภิวัฒน์

ดนัย ชาทิพฮด

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาผ้าย้อมครามในฐานะที่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนคร โดยใช้ภาพแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการรื้อฟื้นและการกลับมาของผ้าย้อมครามในปัจจุบัน

 

ผลการวิจัยพบว่า ผ้าย้อมครามเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนในอดีต เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นมาคู่กับการทอผ้าและวัฒนธรรมของผ้า การทอผ้าและการย้อมผ้าจึงเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งของผู้หญิง ผ้าย้อมครามในอดีตถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิต หากแต่ในปัจจุบันเมื่อมีการรื้อฟื้นผ้าย้อมคราม ทำให้ผ้าย้อมครามกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร ภูมิปัญญาของผ้าย้อมครามถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ กว่าจะกลายมาเป็นผืนผ้าย้อมคราม จนทำให้ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งมีการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ผ้าย้อมครามเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในบริบทของโลกาภิวัตน์

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 87-116) 

 

 

Indigo Dye Fabric : Commodization of Culture in the Tide of Globalization

 

Danaya Chathiphot

 

Abstract

 

The purpose of this research was to study Indigo dyed fabric as cultural products of the Sakon Nakhon province which represent the Phu Tai ethnic group and to describe the process and revival of Indigo dyed fabric at the present time.

 

The research found that Indigo dye fabric is intellectual heritage from their ancestors. The local wisdom of Indigo dye fabric developed along with the weaving of the fabric and their fabric culture. Becoming an expert in weaving and dyeing has been a socialization factor for Phu Tai women. In the past the Indigo dyed fabric was manufactured to meet the lifestyle of the family and other traditions without sign value thought.

 

At the present, Indigo dye fabric has become an important cultural product of Sakon Nakhon province. Although in the past the production of Indigo dye fabric product was used only for personal use, it is now one of the sources of income for the local community.

 

Since Indigo dye fabric has become one of the sources of income of Sakon Nakhon province, in particular, and the economy of the country, in general, there should be encouragement and promotion of the products in other provinces and countries at regional and global levels.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 87-116)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

พลวัตทางพหุสังคมและพหุวัฒนธรรมของผู้คนในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2522-2553

พรชัย นาคสีทอง และ อนินทร์ พุฒิโชติ

 

บทคัดย่อ

 

บทความวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะในแง่พลวัตทางพหุสังคมและพหุวัฒนธรรมในยุคการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (พ.ศ. 2522-ปัจจุบัน) โดยศึกษาภายใต้กรอบการวิจัยเชิงคุณภาพตามระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์

 

ผลการศึกษาพบว่าเกาะลันตาเป็นแหล่งอาศัยของผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์มายาวนานทั้งชาวเล (อุรักลาโว้ย มอเก็น) ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน และไทยพุทธ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม แต่ละกลุ่มดำรงวิถีชีวิตตามความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของตน อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในเกาะลันตาเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เกาะลันตาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันตก ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญของการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภายหลังจากการประกาศให้เกาะลันตาเป็นอุทยานแห่งชาติใน พ.ศ. 2533 เกาะลันตาเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม และความโดดเด่นจากความหลากหลายทางพหุสังคมวัฒนธรรมของผู้คน การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวส่งผลให้เกาะลันตาเปลี่ยนสภาพจาก “เกาะปิด” สู่เกาะที่เปิดรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว คนพื้นถิ่นในเกาะลันตาจำนวนไม่น้อยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากชาวประมงเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว ปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันของธุรกิจการท่องเที่ยวและคนต่างท้องถิ่นที่เข้ามาลงทุนและประกอบอาชีพ รวมถึงการเปิดรับวัฒนธรรม ค่านิยมและเทคโนโลยีต่างๆ ของความเป็นสังคมเมือง กระนั้นก็ตาม โดยภาพรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และการอยู่ร่วมกัน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างปกติสุข ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยว

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 117-153) 

 

 

The Dynamics of the Pluralist Society and Diverse Cultures of the People in Koh Lanta, Krabi Province (1979- 2010)

 

Pornchai Nakseethong and Anin Puttichot

 

Abstract

 

The objective of this article is to study the developmental history of Koh Lanta, both economically and socially. This article will focus on the dynamics of the pluralist society and diverse cultures of the people in Koh Lanta, Krabi Province during the period of the official development of the tourism industry, beginning in 1979. This qualitative research has been conducted using the historical research method.

 

This study discovered that Koh Lanta is home to numerous ethnic groups, such as Sea Gypsies (Urak Lawoi and Morgan in particular), Thai-Muslim and Thai-Chinese. Each group has unique religious and cultural identities. Most of the indigenous population is fishermen and farmers. Considerable economic changes in Koh Lanta were initiated in the age of tourism development following the Thai government’s promotion of the national tourism industry in 1979.

 

By the time the island was registered as Koh Lanta National Park in 1990, Koh Lanta was well-known for its richness in natural resources and the uniqueness of its multiculturalism. As expected, the island became one of the centers of marine tourism in the area of the Andaman coastal areas of Thailand. Tourism has changed Koh Lanta considerably. Once an isolated self-sufficient community, it is now an open community. The substantial number of tourists and immigrants over this time has had a tremendous impact on the community in Koh Lanta.

 

One important example of change in the island’s economy is that the economy went from being agrarian and marine based, to one based on tourism and services. The increasing rate of investment fuelled the tourist industry’s expansion and also affected the community’s culture. Despite living in a multicultural society amid the rapid expansion of tourism, the people in Koh Lanta presently have been able to sustain their unique ethnic, religious, and cultural identity. They are still capable of living together in peace and harmony.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 117-153)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

ความเป็นชายในมัทนะพาธา

พรรณราย ชาญหิรัญ

 

บทคัดย่อ

 

มัทนะพาธา เป็นเรื่องราวความรักสามเส้าของชาย 2 คนกับหญิง 1 คน มัทนา ตัวละครเอกฝ่ายหญิงมีชีวิตที่ต้องผกผันไปอันเนื่องมาจากเหตุแห่งรัก ตัวละครหลัก 3 ตัว ได้แก่ สุเทษณ์ ชัยเสน และมัทนาแสดงความเป็นชายผ่านความมีอำนาจซึ่งส่งผลต่อชีวิตของมัทนาตลอดเรื่อง สุเทษณ์และชัยเสนแสดงอำนาจในการครอบครองมัทนา กล่าวคือ สุเทษณ์ไม่พอใจเมื่อมิได้ความรักจากมัทนาจึงสาปมัทนาให้กลายเป็นดอกกุหลาบถึงสองครั้งและชัยเสนเชื่อคำใส่ความว่ามัทนามีชู้จึงสั่งประหารชีวิตนาง ส่วนมัทนานั้นแสดงอำนาจในการเลือกที่จะรัก กล่าวคือ มัทนาเลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อความรักของตนจึงไม่ยอมรับรักสุเทษณ์ ส่งผลให้ตนถูกสาปให้กลายเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มัทนะพาธา ดำเนินเรื่องภายใต้การแสดงความเป็นชายหรือการถูกสั่นคลอนความเป็นชายของตัวละครหลัก ที่น่าสนใจคือแม้มัทนาซึ่งเป็นหญิงก็มีความเป็นชายซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรื่องราวในมัทนะพาธา ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 155-184) 

 

 

Masculinity in Matthanaphatha

 

Phannarai Chanhiran

 

Abstract

 

Matthanaphatha is the story of a love triangle between a male deity, a female angel and a man. The life of Matthana, the female protagonist, critically changes because of masculine traits of the characters, Suthet, Chayasen, and herself. Suthet and Chayasen manifest their power in order to possess Matthana. Dissatisfied with being rejected, Suthet curses and transforms the angel into a rose twice: first temporarily, then eternally. Chayasen believes rumors that Matthana has a secret lover. Furious, he orders that she be killed. As for Matthana, she confirms that she has power over her life and chooses to love Chayasen whom she desires. Consequently, due to her display of masculine traits in her decision, Matthana has to suffer being imprisoned as a rose for life. The plot is driven by the expression of masculine traits of the characters and their being challenged.

 

(Published in Journal of Thai Studies Volume 10 Number 2 (August 2014 – January 2015) Page 155-184)

 

บทความ / Full Text : Download

 

 

 

 

แนะนำหนังสือ “จักรวาฬทีปนี : ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า”

อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

 

 

จักกวาฬทีปนี: ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า เป็นผลงานการวิจัยของอาจารย์แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง) ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย “วรรณกรรมล้านนา: ภูมิปัญญา ลักษณะเด่น และคุณค่า” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าโครงการ 

 

เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมประเภท “โลกศาสตร์” หรือ “ไตรภูมิ” คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปมักรู้จักเพียงคัมภีร์เตภูมิกถาหรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ของพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย หรือคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา แต่งโดยพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่แท้ที่จริง วรรณกรรมประเภทโลกศาสตร์มีอยู่มากมายหลายเรื่อง และคัมภีร์หนึ่งที่สำคัญได้แก่ คัมภีร์จักกวาฬทีปนี วรรณกรรมพุทธศาสนาชิ้นเอกของล้านนา ซึ่งพระสิริมังคลาจารย์แห่งเมืองเชียงใหม่ แต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2063 ในลักษณะ “งานวิชาการ” ที่มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ โดยยกหลักฐานอ้างอิงจากคัมภีร์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

 

คัมภีร์จักกวาฬทีปนีแพร่หลายเป็นอย่างยิ่ง ดังที่พบต้นฉบับตัวเขียนในล้านนา ทั้งเชียงใหม่ แพร่ น่าน และต้นฉบับตัวเขียนที่จารในสมัยต่างๆ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า จักกวาฬทีปนี เป็นคัมภีร์หนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ พระราชทานไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาในปีพุทธศักราช 2299 ด้วย ต่อมาในปีพุทธศักราช 2523 กรมศิลปากรจึงได้ชำระและแปลคัมภีร์จักกวาฬทีปนีเป็นภาษาไทย

 

ในงานวิจัยนี้ อาจารย์แม่ชีวิมุตติยาได้วิเคราะห์ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่าของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีให้เห็นเด่นชัด โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบคัมภีร์จักกวาฬทีปนีกับคัมภีร์โลกศาสตร์บาลีอีก 8 คัมภีร์อย่างละเอียดลึกซึ้ง ได้แก่ คัมภีร์โลกปัญญัตติปกรณ์ อรุณวตีสูตร โลกุปปัตติ โลกทีปสาร และโลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี ทั้งในด้านโครงสร้างของคัมภีร์ เนื้อหาและวิธีการเสนอเนื้อหา รวมทั้งการอ้างอิง

 

และนอกจากวรรณกรรมโลกศาสตร์ทั้ง 8 เรื่องนี้แล้ว ผู้วิจัยยังได้ศึกษาผลงานอีก 3 เรื่องของพระสิริมังคลาจารย์ ได้แก่ เวสสันตรทีปนี มังคลัตถทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา รวมถึงศึกษาเตภูมิกถา สมัยสุโขทัย และไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อนำข้อมูลมาเสริมและยืนยันลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่าด้านการอ้างอิงของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีด้วย

 

จากการวิจัยของอาจารย์แม่ชีวิมุตติยา แสดงให้เห็นว่า ลักษณะเด่นภูมิปัญญา และคุณค่าของคัมภีร์จักกวาฬทีปนี เกิดจากความเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและรอบรู้จัดเจนในคัมภีร์ต่างๆ ของพระสิริมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญแห่งยุคสมัยที่การศึกษาและการแต่งวรรณกรรมบาลีในล้านนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง

 

ลักษณะเด่นด้านเนื้อหาของจักกวาฬทีปนีที่แตกต่างจากคัมภีร์โลกศาสตร์เรื่องอื่นๆ มีหลายประการ เช่น จักกวาฬทีปนีมุ่งหมายจะแสดง “โอกาสโลก” หรือพื้นที่สถานที่ต่างๆ ในจักรวาล โดยกล่าวถึง “ชีวิต” ที่อยู่ตามสถานที่เหล่านั้นเพื่อให้การอธิบายพื้นที่หรือสถานที่นั้นๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การนำเสนอเนื้อหาไม่ได้เป็นการพรรณนาตามลำดับภพภูมิดังที่เป็นขนบสืบทอดกันมาในคัมภีร์โลกศาสตร์ แต่นำเอาพื้นที่หรือสถานที่ต่างๆ ในจักรวาลเป็นตัวตั้งแล้วอธิบาย นอกจากนี้ การอธิบายในหัวข้อย่อยก็เป็นการวินิจฉัยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขัดแย้งไม่ตรงกันในคัมภีร์ต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์หาความถูกต้องซึ่งคัมภีร์อื่นๆ มิได้กล่าวถึง

 

จักกวาฬทีปนียังมีลักษณะเด่นในการแสดงคำศัพท์ โดยรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังกล่าวถึงแต่ละเรื่องมาอย่างครบถ้วน แล้ววิเคราะห์ความหมายและที่มาของรูปศัพท์ แจกแจงความเห็นที่แตกต่างกันในคัมภีร์ต่างๆ แล้ววินิจฉัยความถูกต้อง รวมถึงแสดงไวพจน์ หรือคำที่มีความหมายเดียวกันกับคำศัพท์เหล่านั้นด้วย เช่น การอธิบายความหมายของคำว่า “โลก” ได้แก่ โลก สัตวโลก โอกาสโลกขันธโลก สังขารโลก ฯลฯ 

 

ลักษณะเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของจักกวาฬทีปนีคือ เนื้อหาการวิเคราะห์ของพระสิริมังคลาจารย์ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ได้รวบรวมคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา อนุฎีกา คัมภีร์ไวยากรณ์ และปกรณ์พิเศษต่างๆ ซึ่งมีสาระแตกต่างกันมาเปรียบเทียบแล้ววิเคราะห์สรุปเพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องที่สุด โดยมีการระบุที่มาของข้อมูลอย่างละเอียด มีการอ้างอิงถึง 1,089 แห่ง ซึ่งการเน้นการอ้างอิงนี้เป็นเอกลักษณ์ของพระสิริมังคลาจารย์ แสดงให้เห็นความรอบรู้ของท่าน รวมทั้งภูมิปัญญาในการจัดระบบการศึกษา การรวบรวมและจัดเก็บคัมภีร์พุทธศาสนาบาลีในล้านนาในสมัยนั้น

 

ความรอบรู้และความเป็นนักวิชาการของพระสิริมังคลาจารย์ ทำให้ท่านนำเสนอเนื้อหาแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นตามลำดับน้ำหนักความน่าเชื่อถือและยุคสมัยที่รวบรวมหรือรจนาคัมภีร์ ใช้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านตั้งแต่พระไตรปิฎกจนถึงคัมภีร์ปกรณ์พิเศษ แล้วเปรียบเทียบความถูกต้องโดยถือสาระในพระไตรปิฎกเป็นหลัก การตีความต่างๆ ทำโดยความสุขุมรอบคอบถี่ถ้วนตามหลักฐาน ทำให้จักกวาฬทีปนี ไม่เป็นเพียงคัมภีร์แสดงหลักธรรมอันลึกซึ้งทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็น “งานวิชาการ” ที่โดดเด่นทั้งเนื้อหาและวิธีการศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างงานวิชาการหรืองานวิจัยได้แม้ในปัจจุบัน

 

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมภาษาบาลี รวมทั้งความวิริยอุตสาหะของผู้วิจัย ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์จักกวาฬทีปนีกับคัมภีร์โลกศาสตร์อื่นๆ โดยตั้งประเด็นการศึกษาวิเคราะห์ต่างๆ อย่างละเอียดครบถ้วนรอบด้าน เพื่อทำความเข้าใจและนำเสนอให้เห็นลักษณะอันโดดเด่นของคัมภีร์จักกวาฬทีปนีอย่างเด่นชัด การนำเสนอได้พยายามจัดแบ่งบทและหัวข้อต่างๆ อย่างชัดเจน มีตารางสรุปเปรียบเทียบอย่างละเอียด ทั้งยังมีการสรุปประวัติ โครงสร้าง และวิธีการนำเสนอเนื้อหาของคัมภีร์โลกศาสตร์บาลีเรื่องต่างๆ รวบรวมไว้ในภาคผนวกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาทำความเข้าใจวรรณกรรมโลกศาสตร์ต่อไป

 

งานวิจัยนี้อาจเป็นงานวิจัยที่อ่านยากสำหรับผู้อ่านทั่วไป ด้วยเนื้อหาและคำศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง รวมทั้งการนำเสนอในลักษณะที่เป็นวิชาการอย่างมาก แต่หากพิจารณาความสำคัญของคัมภีร์จักกวาฬทีปนี ซึ่งเป็นคัมภีร์โลกศาสตร์เรื่องสำคัญ และเป็นผลงานชิ้นเอกของพระสิริมังคลาจารย์ที่มีลักษณะพิเศษต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยนี้ว่า ได้สร้างองค์ความรู้อันสำคัญในการศึกษาและทำความเข้าใจวรรณกรรมโลกศาสตร์และวรรณกรรมพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ทำให้เห็น “ลักษณะเด่น” และความสำคัญในฐานะมรดกแห่ง “ภูมิปัญญา” ที่สืบทอดมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยยุคทองแห่งวรรณกรรมบาลีในดินแดนล้านนาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปทำความเข้าใจวรรณกรรมประเภทโลกศาสตร์ที่มี “คุณค่า” ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาทุกยุคทุกสมัย

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

อาจารย์แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง). จักกวาฬทีปนี: ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2554, 444 หน้า.

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558) หน้า 185-189) 

 

 

Download